บทคัดย่องานวิจัย

เรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐานเพื่อสร้างความ
สนใจและทักษะในอาชีพท้องถิ่นของนักเรียนโรงเรียนสาครพิทยาคาร
ผู้วิจัย เสรี บิสนุม
ปีที่ทำวิจัย 2557

บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ 1) พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นในกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยีโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน 2) ศึกษาผลการเปลี่ยนแปลงความสนใจและทักษะในอาชีพท้องถิ่นจากการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน 3) พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐานในกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยีของโรงเรียนสาครพิทยาคาร โดยมีกลุ่มนักเรียนที่ได้รับการพัฒนา 23 คน ดำเนินการวิจัยเริ่มตั้งแต่ระยะเตรียมความพร้อมและระยะดำเนินการวิจัย 3 วงรอบได้แก่ 1) ระดมความคิดเห็นของผู้ร่วมวิจัยเพื่อการวางแผนด้วยเทคนิค A-I-C และร่วมพัฒนาหลักสูตรและจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการสอนให้นักเรียนสร้างความรู้จากหลักสูตรอาชีพเลี้ยงปูนิ่มและการแปรรูปอาหารจากปูนิ่ม 2) สร้างความสนใจและทักษะในอาชีพท้องถิ่นให้แก่นักเรียนโดยผู้วิจัยดำเนินโครงการเสริมการเรียนรู้ 2 โครงการและ 3) ปรับปรุงกิจกรรมการเรียนรู้และจัดโครงการเพิ่มเติม 3 โครงการและเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพเพื่อประเมินความสนใจและทักษะการทำงานในอาชีพท้องถิ่นพบผลการวิจัยดังนี้
1. กระบวนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นมี 5 ขั้นตอนได้แก่ 1) วิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของนักเรียน 2) ร่วมตัดสินใจเลือกอาชีพในชุมชน 3) สร้างหลักสูตรท้องถิ่น 4) วิพากษ์หลักสูตรท้องถิ่นและ5) ทดลองใช้และปรับปรุงหลักสูตรผลจาการพัฒนาได้หลักสูตรท้องถิ่นรายวิชาอาชีพเลี้ยงปูนิ่มและการแปรรูปอาหารจากปูนิ่ม จำนวน 40 ชั่วโมงโดยใช้กระบวนการเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้านควบคู่การฝึกปฏิบัติจริง
2. ผลการเปลี่ยนแปลงความสนใจและทักษะในอาชีพท้องถิ่นพบว่า 1) นักเรียนที่เรียนการเลี้ยงปูนิ่มมีความสนใจในอาชีพอยู่ในระดับสนใจมาก ( x = 4.27) และสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดโดยพบว่าปัจจัยที่มีผลต่อความสนใจของนักเรียนได้แก่ผลความสำเร็จที่ได้รับจากการเรียนการมองเห็นคุณค่าของการเลี้ยงปูนิ่มมีประสบการณ์ในการเลี้ยงปูนิ่มมาก่อนและอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีคนเลี้ยงปูนิ่มให้เห็น 2) นักเรียนที่เรียนเรียนการแปรรูปอาหารจากปูนิ่มมีความสนใจในอาชีพตามเกณฑ์ที่กำหนด ( x = 4.09) 3) ด้านทักษะในอาชีพท้องถิ่นของนักเรียนที่เรียนการเลี้ยงปูนิ่มอยู่ในระดับดีโดยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับร้อยละ 83.27 และปัจจัยที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะดีได้แก่การได้ฝึกปฏิบัติจริงความสามารถในถ่ายทอดของปราชญ์ชาวบ้านและประสบการณ์เดิมในการเลี้ยงปูนิ่มของนักเรียน 4) นักเรียนที่เรียนการแปรรูปอาหารจากปูนิ่มมีทักษะอยู่ในระดับดีโดยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับร้อยละ 79.36 และปัจจัยที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะการแปรรูปอาหารจากปูนิ่มอยู่ในระดับดีได้แก่การได้ฝึกปฏิบัติจริงผู้สอนมีอัธยาศัยดีใจดีมีความเป็นกันเองกับนักเรียนและทักษะเดิมในการทำงานของนักเรียน
3. รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐานในกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ศึกษาศักยภาพของชุมชน 2) กระตุ้นบุคคลในชุมชนและบุคลากรในโรงเรียนตระหนักและมีพลังอำนาจในการจัดการศึกษาร่วมกัน 3) ศึกษาความต้องการพัฒนาด้านอาชีพในท้องถิ่นของนักเรียน 4) พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น 5) จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติจริง 6) จัดโครงการเสริมการเรียนรู้ และ7) ประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น